หลักการและเหตุผล

      ความต้องการใช้ข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกรในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์ อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทุกภาคส่วน สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในภาคการเกษตร เช่น ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาในการผลิต และการขาดแคลนอาหารได้ ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาพัฒนาและปรับใช้ในกระบวนการ ทางการเกษตรมากขึ้น เช่น การพัฒนาการผลิต การปรับเปลี่ยนช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ การจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคการเกษตร ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการศึกษาและจัดทำนโยบาย มาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะขึ้นเกิดได้ในอนาคต ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนทันต่อเวลาสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และมีความมั่นคงปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามนโยบาย มาตรการดังกล่าว

      อีกทั้งการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดจะถูกนำมาบูรณาการใช้งานร่วมกัน การตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ร่วมกับสิทธิ์อื่น ๆ เช่น ผู้มีสิทธิ์รับเงินเดือน/ค่าจ้างในระบบ จ่ายตรง เงินเดือน และค่าจ้างประจำ และผู้มีสิทธิ์รับบำนาญในระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ผู้ได้รับสิทธิ์จากระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้ง ตรวจสอบความซ้ำซ้อน และความสอดคล้องกับเงื่อนไขกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนในแต่ละโครงการที่ภาครัฐจัดทำขึ้น ทำให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีข้อมูล และการมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันอย่างแท้จริง ตลอดจนการนำข้อมูลจำนวนมากมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ จัดทำรายงาน และเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ซึ่งยังไม่สามารถนำข้อมูลจากหน่วยงานอื่นมาใช้ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ

      นอกจากการดำเนินงานในส่วนของการตรวจสอบความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกร ประชาชนตามนโยบายของรัฐแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์ การวิเคราะห์ศักยภาพของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ แต่ละกิจกรรมทางการเกษตรในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อเสนอแนะนโยบายมาตรการให้แก่รัฐบาล ให้มีความถูกต้องทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง ความต้องการของหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ต้องการใช้เพื่อตรวจสอบในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ต้องการใช้ข้อมูลเพื่อการกำหนดกรอบการสำมะโนเกษตรที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และหน่วยงาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมที่ดิน ต้องการข้อมูลเพื่อใช้ ในการตรวจสอบพื้นที่เกษตรในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

      ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับการประกอบกิจกรรมในด้านการเกษตร และเป็นหน่วยงานที่ให้ข้อเสนอแนะนโยบาย มาตรการด้านการเกษตรให้แก่รัฐบาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบทะเบียนเกษตรกรกลาง ให้มีความพร้อมสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ